|
หนังสือเลิกจ้างอาจระบุเหตุผลอันเป็นกระทำความผิดของลูกจ้างก็ได้ ไม่จำเป็นต้องระบุเหตุผลรายละเอียดข้อเท็จจริงทั้งหมด![]() ![]() ![]() หนังสือเลิกจ้างอาจจะระบุเหตุผลอันเป็นหลักแห่งการ กระทำความผิดของลูกจ้างก็ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องระบุเหตุผลอันเป็นรายละเอียดข้อเท็จจริงการกระทำความผิดทั้งหมดของลูกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้าง เพียงแต่ต้องระบุเหตุผลตามความเป็นจริงและเพียงพอที่ให้ลูกจ้างได้ทราบสาเหตุแห่งการเลิกจ้างก็เพียงพอแล้ว มี คำพิพากษาฎีกา ที่ 7365/2548 (ย่อ) ดังนี้ “ วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 17 วรรคสาม ที่ระบุว่า “ในการที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างมิได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้”นั้น ก็เพื่อคุ้มครองลูกจ้างมิให้ถูกนายจ้างหาเหตุกลั่นแกล้งบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่เป็นความจริงตามที่อ้าง หากนายจ้างมีเหตุผลในการเลิกจ้างลูกจ้างอย่างไรก็ต้องระบุเหตุแห่งการเลิกสัญญาจ้างไว้ให้ตรงกับความเป็นจริง มิใช่อ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้อย่างหนึ่งแต่เมื่อเกิดกรณีพิพาทกลับอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างอย่างอื่นมาต่อสู้คดี ซึ่งทำให้กระบวนพิจารณาคดีอาจต้องล่าช้าไปด้วย สำหรับเหตุผลที่นายจ้างต้องระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างนั้น นายจ้างอาจจะระบุเหตุผลอันเป็นหลักแห่งการกระทำความผิดของลูกจ้างก็ได้ เช่น ลูกจ้างได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของนายจ้างข้อใดเป็นต้น นายจ้าง ไม่จำเป็นที่จะต้องระบุเหตุผลอันเป็นรายละเอียดข้อเท็จจริงการกระทำความผิดทั้งหมดของลูกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างก็ได้ เพียงแต่ต้องระบุเหตุผลตามความเป็นจริงและเพียงพอที่ให้ลูกจ้างได้ทราบสาเหตุแห่งการเลิกจ้างนั้นก็เพียงพอแล้ว การที่โจทก์ได้ระบุเหตุผลแห่งการเลิกสัญญาจ้างลูกจ้าง ตามสำเนาหนังสือเลิกจ้างเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ว่า ลูกจ้างได้กระทำทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ คำสั่งของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง แม้จะไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงการกระทำความผิดของลูกจ้างระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างก็ตาม ก็เพียงพอที่ทำให้ลูกจ้างได้ทราบสาเหตุแห่งการเลิกจ้างที่แท้จริง หนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างของนายจ้างถือได้ว่าได้ระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างไว้โดยชอบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม แล้ว และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะลูกจ้างนำรถเครนของโจทก์ไปยกตู้คอนเทนเนอร์ให้แก่บุคคลภายนอกแล้วรับเงินจากบุคคลภายนอก กับ ลูกจ้างได้รับเงินจากเจ้าของบ้านที่ถูกรื้อถอนในการก่อสร้างบ้านทดแทนให้ในงานของนายจ้าง ซึ่งการรับเงินและการใช้เงินทั้งสองจำนวน ดังกล่าว ลูกจ้างกระทำโดยมิได้ขออนุญาตโจทก์ ไม่นำเงินไปมอบให้นายจ้างจึงเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อตรงต่อนายจ้าง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์จึงเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(1) ” |
|
![]() |
![]() |
Miracle Consultant Limited
1/828 การ์เด้นโฮม ช้อปปิ้ง พลาซ่า หมู่ที่ 17 ถนนพหลโยธิน
ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 Tel : 02-5316729-30 E-mail : webmaster@miracleconsultant.com |