|
การที่นายจ้างไม่ระบุเหตุผลที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้าง ทำให้ต้องรับผิดจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่?![]() ![]() ![]()
มี คำพิพากษาฎีกาที่ 8570/2548(ย่อ) ดังนี้
“นายจ้างจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และมาตรา 583 และนายจ้างจะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 จึงนำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม ที่ห้ามนายจ้างยกเหตุซึ่งมิได้ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังมาใช้เพื่อตัดสิทธิของนายจ้างมิให้ยกขึ้นต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วยไม่ได้ ลูกจ้างกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(3) นายจ้างจึงไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้าง และการเลิกจ้างนี้ก็มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่ลูกจ้าง ” จากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวทำให้เราได้รู้บทกฎหมายที่ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยว่านายจ้างจะต้องจ่ายเงินตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดอะไรบ้าง 1.ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยให้พิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582และ มาตรา 583 นายจ้างจะต้องจ่ายเมื่อการเลิกจ้างนั้นนายจ้างมิได้บอกกกล่าวให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า 2.ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ต้องหยิบยก พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 17 วรรคสามและ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 49 นายจ้างจะต้องจ่ายเมื่อศาลวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมหรือไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะเลิกจ้างได้ 3.ค่าชดเชยการเลิกจ้างนั้น ต้องใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 17 วรรคสาม และมาตรา 119 ซึ่งค่าชดเชยนี้ถูกข้อจำกัดของกฎหมายที่ว่า หากนายจ้างไม่ระบุเหตุเลิกจ้างไว้นายจ้างจะหยิบยกขึ้นมาภายหลังเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยนั้นไม่ได้ แม้ว่าเลิกจ้างชอบด้วยกฎหมายแต่นายจ้างไม่ระบุเหตุที่เลิกจ้างไว้ หรือระบุไว้ไม่ครบถ้วนนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างภายหลัง เพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้ แตกต่างและแยกต่างหากจากค่าบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เพราะว่าแม้ว่านายจ้างจะไม่ได้ระบุเหตุเลิกจ้างไว้ นายจ้างก็สามารถยกเหตุตามกฎหมายที่ไม่จ่ายค่าดังกล่าวขึ้นภายหลังได้ |
|
![]() |
![]() |
Miracle Consultant Limited
1/828 การ์เด้นโฮม ช้อปปิ้ง พลาซ่า หมู่ที่ 17 ถนนพหลโยธิน
ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 Tel : 02-5316729-30 E-mail : webmaster@miracleconsultant.com |